กระเพาะปัสสาวะอักเสบในผู้หญิงเป็นอย่างไร?



ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยแบบกะปริดกะปรอย ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีขุ่น หรือมีเลือดปนด้วย ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน

โดยคนปกติกระเพาะปัสสาวะจะสามารถกักเก็บปัสสาวะได้ 300 - 350 ซี.ซี. จากนั้นผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวผ่านทางหลอดปัสสาวะ และขับออกภายนอกในเวลาไม่เกิน 30 วินาที ซึ่งในแต่ละวันจะปัสสาวะ 3 - 5 ครั้ง โดยไม่มีอาการปวดหรือแสบบริเวณหลอดปัสสาวะ

ส่วนผู้ที่มีอาการปวดปัสสาวะเกินวันละ 5 ครั้ง ซึ่งไม่ได้เกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะเล็ก ไม่สามารถกักเก็บปัสสาวะได้นาน ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อย บางรายอาจปัสสาวะทุก 1 หรือ 2 ชั่วโมง และต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนดึกมากกว่า 2 ครั้งในแต่ละคืน

 ในผู้ป่วยบางราย มีกระเพาะปัสสาวะขนาดเล็กและไม่สามารถขยายตัวได้ เพราะถูกฉายแสงรักษามะเร็งปากมดลูก บางรายเกิดจากการขยายตัวของผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นกล้ามเนื้อ ทำให้เก็บปัสสาวะได้ไม่มาก หรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่ในมดลูก และในหญิงตั้งครรภ์ที่มดลูกไปกดกระเพาะปัสสาวะ และยังเกิดจากการได้รับยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่ได้เข้ารับการรักษาโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สาเหตุเหล่านี้ก็ทำให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติได้เช่นกัน

นอกจากนี้บางรายที่ปัสสาวะบ่อย อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งภาวะเช่นนี้จำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องตรวจการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ เพื่อจะได้ทราบสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

รวมความว่า ความผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ การดูแลตนเองเบื้องต้น ต้องไม่กลั้นปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง และถ้ากระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับเชื้อโรคออกจากร่างกายโดยเร็ว และยังช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะได้ด้วย


ที่มา : หนังสือ ASTV ผู้จัดการ โดย อ.นพ.ภควัฒน์ ระมาตร์

วิธีเตรียมตัวก่อนไปบริจาคโลหิต การบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทย







วิธีเตรียมตัวก่อนไปบริจาคโลหิต การบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทย

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต
1. มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
2. อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ (ถ้าเป็นผู้บริจาคครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี)
3. มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ระหว่างไม่สบายหรือรับประทานยาใดๆ
4. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือติดยาเสพติด
5. สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือ ให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต
1.    นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อเนื่อง ในเวลาปกติคืนก่อนวันบริจาค
2.    รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กเพิ่ม
3.    รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมาผิดปกติเป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้
4.    ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
5.    งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาค
6.    งดสูบบุหรี่ ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต

1.    สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
2.    เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิตไหลลงถุงได้ดี ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
3.    ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล
4.    ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต
5.    ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทราบทันที
6.    หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อย ห้ามลุกทันที ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง

หลังบริจาคโลหิต

1.    ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1-2 วัน
2.    หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต
3.    ถ้ามีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบนั่งก้มศีรษะต่ำระหว่างเข่า หรือนอนราบยกเท้าสูงจนกระทั่งมีอาการปกติจึงลุกขึ้น และเดินทางกลับ ป้องกันอุบัติเหตุจากการล้ม
4.    ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อส กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
5.    ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน

6.    รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละอย่างน้อย 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

ขั้นตอนบริจาคโลหิต
ขั้นตอนที่ 1 กรอกแบบฟอร์มผู้บริจาคโลหิต
*ควรให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริงของผู้บริจาค จะทำให้ได้โลหิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตัวผู้บริจาคเอง และตัวผู้ป่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการรับบริจาคโลหิต
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต และความเข้มโลหิต
*บุคลากรทางการแพทย์ จะสอบถามประวัติผู้บริจาคเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นว่าท่าน มีสุขภาพพร้อมที่จะบริจาคโลหิตหรือไม่ โปรดอย่าปิดบังข้อมูลเรื่องสุขภาพ หรือเขินอายที่ จะตอบคำถาม
ขั้นตอนที่ 3 ลงทะเบียนรับหมายเลขถุงบรรจุโลหิต ที่เคาน์เตอร์ทะเบียน
ขั้นตอนที่ 4 บริจาคโลหิต ที่ชั้น 2
ขั้นตอนที่ 5 พักรับประทานอาหารว่าง / เครื่องดื่ม
*หลังบริจาคโลหิตจำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการให้ และนั่งพักสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพน้ำในร่างกาย เมื่อปกติดีแล้วจึงเดินทางกลับ

ที่มา Guru Sanook

ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว



ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว หากปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว นอกจากจะทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้นเร็ว ยังสามารถป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนั้นลามออกไปหรือมีผลแทรกซ้อนด้วย

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

1.    ถ้าท่านมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานลดลง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อและยังกระตุ้นเยื่อบุจมูกให้อักเสบมากขึ้น
2.    ถ้าท่านมีอาการเจ็บคอ หรือระคายคอร่วมด้วย ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด หรือจัด และการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ รวมทั้งพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันเศษอาหารไม่ให้ตกค้างในช่องปากและลำคอ ซึ่งอาจทำให้คออักเสบมากขึ้นได้
3.    ถ้าท่านมีอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงอากาศเย็น การรับประทานไอศกรีม ดื่ม หรืออาบน้ำเย็น รวมทั้งควรปิดปาก และจมูกเวลาไอ หรือจามด้วยผ้าเช็ดหน้า
4.    ถ้ามีอาการเสียงแหบแห้ง ควรลดการใช้เสียงชั่วคราว ไม่ควรตะเบ็งเสียง หรือตะโกน
5.    หาสาเหตุการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามหรือเป็นซ้ำ สาเหตุที่พบบ่อยคือ ร่างกายมีภูมิต้านทานน้อยลง อาจเกิดจากความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอหรือสัมผัสอากาศที่เย็นจัด หรือตากฝน ร่างกายไม่ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ หรือมีคนรอบข้างที่แพร่เชื้อให้

6.    งดสูบหรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และงดการว่ายน้ำหรือดำน้ำ เพราะอาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้อีก
7.    ควรพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน เนื่องจากการมีสุขภาพฟันที่ไม่ดี อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อย หรือเป็นๆ หายๆ
8.    ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ รวมทั้งผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัด เช่น มีฝุ่นละออง ควัน สารเคมี มลพิษ และที่อากาศเย็นจัดหรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว และอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ที่สำคัญพยายามอยู่ห่างจากผู้ป่วย

และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วหลังการรักษา ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำข้างต้นต่ออีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก

ที่มา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา