ดื่มเบียร์หนัก เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ไม่รู้ตัว




            ใกล้เทศกาลถือศีลกินเจ ในช่วงนี้บทความที่เป็นประโยชน์และสร้างความตระหนักสำหรับนักดื่มทั้งหลายได้บ้างไม่มาก็น้อยนะคะ ไม่เฉพาะแต่เบียร์เท่านั้นที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกประเภทล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกาย  และที่สำคัญเป็นอันตรายต่อ กระเป๋าตังค์ ของท่านทั้งหลายได้นะคะ







สำหรับผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า 
        คอเบียร์ที่ดื่มหนักมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถ้ามียีนบางตัวความเสี่ยงจะเพิ่มถึงกว่า 700%

       งานศึกษาแสดงให้เห็นว่าคนที่ดื่มเบียร์วันละ 2-3 ขวดนานหลายปี มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 75% และหากคนเหล่านี้มียีน rs1230025 แต่ไม่ได้ดื่มหนัก ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มวันละไม่ถึงขวด

       ทว่า คนที่ทั้งดื่มหนักและดื่มมานาน รวมถึงมียีนดังกล่าว ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นทันทีกว่า 700 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มวันละไม่ถึงขวดและไม่มียีนนี้   อนึ่ง ยีน rs1230025 พบได้ทั่วไปในคน 20%

    อย่างไรก็ตาม อิริก ดูเอลล์ นักระบาดวิทยาอาวุโสของสถาบันโรคมะเร็งคาตาลันในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ระบุว่า ไวน์และเหล้าดูเหมือนไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารแบบเดียวกับเบียร์

“สาเหตุอาจเนื่องมาจากคนที่ดื่มหนักมีแนวโน้มดื่มเบียร์มากกว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ”


      การค้นพบนี้บ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มเบียร์กับความเสี่ยงโรคกระเพาะอาหาร แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุและสิ่งใดเป็นผลตามมา หรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ


      ในงานศึกษาที่นำเสนอในที่ประชุมประจำปีของสมาคมวิจัยโรคมะเร็งแห่งอเมริกา ดูเอลล์และทีมนักวิจัยวิเคราะห์การดื่มแอลกอฮอล์กับสถานะโรคมะเร็งกระเพาะอาหารของคน 521,000 คน ที่อายุ 35-70 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบแนวโน้มมะเร็งและโภชนาการของยุโรปในปี 1992 และ 1998

      คณะนักวิจัยจะคอยสังเกตว่า ผู้เข้าร่วมเป็นตัวอย่างของการศึกษาเหล่านี้ดื่มไวน์ เบียร์ หรือเหล้าเป็นประจำหรือไม่ และหากพวกเขาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ก็จะดูที่ตำแหน่งและระดับความรุนแรง


     นักวิจัยพบว่า คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำวันละ 65 กรัมขึ้นไป (เท่ากับเบียร์ 4-5 หน่วย) มีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 65% มากกว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำวันละ 0.1-4.9 กรัมตลอดระยะเวลาการศึกษา

     เมื่อพิจารณาเฉพาะรายที่ดื่มเบียร์อย่างเดียว (แทนที่จะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป) ความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารจะสูงกว่าที่ระบุด้านบน โดยเฉพาะคนที่ดื่มหนักและมียีน rs1230025

      โรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 10,570 รายในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว และมักเกิดกับคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีสถิติว่าในช่วงชีวิตของคนเรา ทุกๆ 1 คนใน 114 คนจะตรวจพบมะเร็งชนิดนี้

นักวิจัยไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใดจึงมีเพียงเบียร์ที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร ทำไมไม่เป็นไวน์หรือเหล้า แต่สาเหตุอาจเป็นเพราะเวลาดื่มเบียร์ เรามักดื่มในปริมาณมากกว่าเหล้าหรือไวน์ ตลอดจนเมื่อร่างกายเผาผลาญเบียร์ก็จะเกิดสารก่อมะเร็งมากกว่าด้วย

     กล่าวคือ เมื่อร่างกายเผาผลาญแอลกอฮอล์ จะเกิดสารก่อมะเร็งที่เรียกว่าอะเซตัลดีไฮด์ แต่สำหรับเบียร์นั้นยังมีสารก่อมะเร็งที่มีในสัตว์ที่ชื่อ เอ็น-ไนโตรโซดิเมธิลาไมน์ (เอ็นดีเอ็มเอ) การได้รับทั้งอะเซตัลดีไฮด์และเอ็นดีเอ็มเอเป็นระยะเวลานานจากการดื่มเบียร์ อาจมีบทบาทในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร

      และหากคนที่ดื่มหนักดื่มเบียร์มากกว่าไวน์หรือเหล้า ร่างกายจะสะสมอะเซตัลดีไฮด์และเอ็นดีเอ็มเอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

      ดูเอลล์หวังว่า จะทำการวิจัยต่อไปเพื่อค้นหายีนอื่นๆ ที่อาจมีบทบาทต่อความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร



ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ